ลงทะเบียนยื่นคำขอใบรับรองแหล่งผลิต (ปลูก)
เก็บเกี่ยวที่ดีและแปรรูปของพืชกัญชา
Thailand Cannabis GACP
ข้อกำหนดและเงื่อนไขการขอใบรับรองมาตรฐาน
แหล่งปลูกและเก็บเกี่ยวที่ดีของพืชกัญชาในประเทศไทย
Thailand Cannabis GACP
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
*******************

การผลิต (ปลูก) และเก็บเกี่ยวที่ดีของพืชกัญชา เป็นหัวใจสำคัญในการทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรกัญชาได้มาตรฐานทางการแพทย์ โดยไม่มีสารเคมีตกค้างและปนเปื้อนในพื้นที่ปลูก มาตรฐานหลักที่นำมาสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการผลิตให้สมุนไพรกัญชา มีคุณภาพและมีความปลอดภัย คือ แนวทางปฏิบัติทางการเกษตรและเก็บเกี่ยวที่ดีของพืชสมุนไพรกัญชา (Guidelines on good agricultural and collection practices : GACP) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับแปลงปลูกเพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติสำหรับการสร้างความปลอดภัยให้กับวัตถุดิบสมุนไพรและการแปรรูปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นโดยผ่านกระบวนการตรวจประเมินรับรองให้ได้ระดับมาตรฐานสากลต่อไป

การตรวจรับรองมาตรฐานแหล่งปลูกและเก็บเกี่ยวที่ดีของพืชกัญชาในประเทศไทย

การตรวจรับรองของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นการรับรองว่า การปลูกพืชกัญชาให้ได้มาตรฐานทางการแพทย์ นอกจากจะต้องผ่านกระบวนการผลิตที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว ยังต้องผ่านกระบวนการตรวจประเมินรับรองมาตรฐานการปลูกและเก็บที่ดีของพืชกัญชาเพื่อยกระดับมาตรฐานสู่สากล (GACP)
ผู้ประกอบการ (หมายถึง วิสาหกิจชุมชน บริษัท บุคคลทั่วไป) ที่ขอการรับรองมาตรฐาน GACP ไม่ใช่การตรวจสอบและรับรองว่าผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์นั้นปลอดจากสารเคมีตกค้างใดๆ แต่ กรมฯ อาจใช้วิธีการตรวจวิเคราะห์หาสารเคมีตกค้างในผลิตผลและผลิตภัณฑ์เป็นกรณีพิเศษ ในกรณีที่มีความสงสัยเรื่องการลักลอบใช้สารเคมีการเกษตรของผู้ประกอบการ หรือในกรณีที่มีความเสี่ยงในการปนเปื้อนจากสภาพแวดล้อม
นอกจากนั้น การตรวจรับรองมาตรฐานยังช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าได้ซื้อผลิตผลและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่แท้จริง รวมถึงยังเป็นการคุ้มครองผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรฐาน GACP เพราะผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองจาก กรมฯ เท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ใช้ตรารับรอง GACP บนบรรจุภัณฑ์ของตน

ข้อกำหนดการตรวจรับรองมาตรฐานแหล่งปลูกและเก็บเกี่ยวที่ดีของพืชกัญชาในประเทศไทย Thailand Cannabis GACP

ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดการตรวจรับรองมาตรฐานการปลูกและเก็บเกี่ยวที่ดีของพืชกัญชาในประเทศไทย ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามขอบข่ายและระบบมาตรฐานที่ขอการรับรอง แต่มีข้อกำหนดพื้นฐานที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องปฏิบัติ คือ

  1. ผู้ประกอบการจะต้องจัดทำบันทึกอย่างต่อเนื่อง คือ บันทึกการซื้อและใช้ปัจจัยการผลิตในแปลงปลูก บันทึกกิจกรรมแปลงปลูก และบันทึกการขายผลิตผลอินทรีย์ รวมทั้งเก็บเอกสารการขายผลิตผล เช่น ใบเสร็จรับเงิน เนื่องจากผู้ตรวจสอบอาจต้องตรวจสอบเอกสารเหล่านี้
  2. ผู้ประกอบการจะต้องจัดเก็บเอกสารและจัดทำบันทึกอย่างต่อเนื่อง เช่น ใบรับรองวัตถุดิบ เอกสารสั่งซื้อวัตถุดิบ ใบรับวัตถุดิบ สต็อกวัตถุดิบ บันทึกการแปรรูป/บรรจุ สต็อกผลิตภัณฑ์ เอกสารการขาย/ใบส่งของ บันทึกการทำความสะอาด บันทึกการป้องกันกำจัดแมลง/สัตว์ศัตรูในแปลงปลูก บันทึกการร้องเรียน และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ผู้ตรวจสามารถตรวจสอบว่าถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่
  3. ยินยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการประกอบการเหล่านี้ รวมทั้งบัญชีการขายผลิตผลและผลิตภัณฑ์ ยินยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบในพื้นที่การปลูกทั้งหมดที่ถือครอง (ทั้งพื้นที่ของตนเอง, เช่า, ให้เช่า) รวมทั้งสถานที่ประกอบการ ทั้งที่ขอการรับรองและที่ไม่ได้ขอรับรอง ตลอดจนสถานที่เก็บเครื่องมือ สถานที่เก็บผลิตผล สถานที่เก็บวัตถุดิบ และที่พัก โดยทาง กรมฯ ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
  4. ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งให้ กรมฯ ทราบโดยทันที ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้นในการผลิต เช่น สายพันธุ์ สถานที่ปลูกและขอรับรอง รวมทั้งการละเมิดมาตรฐาน GACP
  5. ในกรณีที่ ผู้ประกอบการว่าจ้างให้ผู้อื่นทำการผลิต หรือจัดการ ผู้ประกอบการจะต้องจัดทำสัญญารับช่วงการผลิตกับผู้รับจ้าง โดยมีสาระสำคัญที่จะต้องคำนึงถึง ดังนี้
    1. ผู้รับจ้างผลิตต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน GACP และเงื่อนไขการรับรองของ กรมฯ
    2. ผู้รับจ้างผลิตยินยอมที่จะให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสถานที่ประกอบการทั้งหมดและตรวจสอบเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของผู้รับจ้างผลิต
    3. ผู้รับจ้างผลิตจัดเก็บเอกสารมาตรฐาน GACP (อย่างน้อยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับจ้างผลิต), สัญญาว่าจ้างการผลิต, เอกสารการผลิต, และคู่มือ GACP. ในเรื่องที่เกี่ยวกับการประกอบการของผู้รับจ้าง
    4. ผู้ประกอบการเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของ กรมฯ ในการตรวจสอบผู้รับจ้าง
    5. ผู้รับจ้างจะปฏิบัติตามนโยบาย หลักเกณฑ์ ตลอดจนเงื่อนไข และระเบียบอื่นๆ ที่ทาง กรมฯ ได้กำหนดขึ้น
  6. ผู้ประกอบการจะต้องจัดเก็บเอกสารต่อไปนี้ไว้สำหรับการตรวจของ กรมฯ ไม่น้อยกว่า 5 ปี
    1. สำเนาเอกสารใบสมัครขอรับรองมาตรฐานกับ กรมฯ
    2. สำเนารายงานการตรวจของเจ้าหน้าที่ กรมฯ
    3. ผลการรับรองมาตรฐานฯ จาก กรมฯ
    4. บันทึกการร้องเรียน
    5. แบบการแจ้งการละเมิดมาตรฐานฯ จาก กรมฯ
การสมัครขอรับรองมาตรฐาน GACP ประเภทเพาะปลูกพืชกัญชา/แปรรูป

ผู้ขอการรับรองมาตรฐาน GACP อาจเป็นเจ้าของแหล่งผลิตเอง หรือมีกลุ่มผู้ผลิตที่ปลูกพืชกัญชาให้คลอบคลุมถึง การแปรรูปกัญชาเบื้องต้น
ระบบมาตรฐานที่กรมฯ สามารถให้รับรองการปลูกพืชกัญชา คือ มาตรฐาน GACP

การสมัครขอรับรองมาตรฐาน GACP

ผู้ประสงค์สมัครขอรับรองการประเมิน GACP ดาวน์โหลดเอกสารต่างๆ ได้ที่เว็ปไซต์ กรมฯ ซึ่งจะประกอบไปด้วยเอกสารดังนี้

  • เกณฑ์มาตรฐาน GACP
  • ใบสมัครขอลงทะเบียนรับรองมาตรฐาน GACP
  • ข้อกำหนดและเงื่อนไขการขอใบรับรองมาตรฐาน GACP
  • คู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure : SOP)

ในการสมัครนั้น จะต้องกรอกข้อมูลในชุดเอกสารการสมัคร ซึ่งประกอบด้วย ใบสมัครและข้อตกลงการรับรองมาตรฐาน GACP และแผนการผลิตตามขอบข่ายที่ขอการรับรอง รวมทั้งเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้อง โดยควรตรวจตราให้เรียบร้อยก่อนส่ง และสามารถส่งได้ทั้งทางไปรษณีย์หรืออีเมล์ จากนั้นประมาณ 30 วันหลังยื่นเอกสารทางเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ทราบต่อไป

การตรวจแหล่งผลิต/แปรรูป โดย คณะกรรมการพัฒนากัญชาฯ กรมการแพทย์แผนไทยฯ

จะแบ่งเป็น 3 ประเภท คือการตรวจครั้งแรกตามที่ขอลงทะเบียน ซึ่งถือเป็นการตรวจสำคัญที่สุด จากนั้นคือการตรวจประจำปี และยังมีการตรวจพิเศษ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อผู้สมัครขอการรับรองเพิ่มเติม หรือได้รับการร้องเรียน โดยในการตรวจพิเศษนี้อาจจะมีการนัดล่วงหน้าหรือไม่ก็ได้

โดยทั่วไป การตรวจการปฏิบัติตามมาตรฐาน GACP จะมีขั้นตอนและวิธีการดังนี้
  1. แนะนำตัว วางแผนการตรวจ และสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปลูก
  2. ตรวจแหล่งผลิต (ปลูก) /แปรรูป
  3. ตรวจมาตรการกระบวนการผลิต
  4. ตรวจเอกสารแหล่งผลิต เช่น บันทึกการซื้อ การใช้ปัจจัยการผลิต บันทึกกิจกรรมแหล่งผลิต
  5. ตรวจเอกสาร เช่น ใบรับรองวัตถุดิบ เอกสารสั่งซื้อวัตถุดิบ ใบรับวัตถุดิบ สต็อกวัตถุดิบ บันทึกการบรรจุ สต็อกผลิตภัณฑ์ เอกสารการขาย/ใบส่งของ บันทึกการทำความสะอาด บันทึกการป้องกันกำจัดแมลง/สัตว์ศัตรูพืชในสถานที่ปลูก/แปรรูป บันทึกการร้องเรียน และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  6. ตรวจฉลากบนผลิตภัณฑ์สำเร็จ ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และตรวจปริมาณผลผลิต/ผลิตภัณฑ์เข้า-ออก
  7. สรุปการตรวจ ซึ่งจะสรุปผลการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และจะส่งรายงานการตรวจให้ผู้ประกอบการภายใน 14 วัน เพื่อให้ผู้ประกอบการอ่านและรับทราบ หากไม่เห็นด้วย สามารถชี้แจงความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรได้ ซึ่ง กรมฯ จะใช้ประกอบในการพิจารณารับรองผู้ประกอบการด้วย

โดยปกติแล้ว กรมฯ มักไม่ตรวจการปนเปื้อนของสารในห้องปฏิบัติการ ยกเว้นในกรณีที่พบความเสี่ยงที่จะปนเปื้อน โดยผู้ประกอบการจะต้องลงนามในเอกสารรับทราบการสุ่มตัวอย่างด้วย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการที่เกิดขึ้น ยกเว้นในกรณีที่ กรมฯ ต้องการสุ่มตัวอย่างเพื่อเป็นการตรวจสอบระบบการตรวจของ กรมฯ เอง

การรับรองมาตรฐาน GACP

เจ้าหน้าที่จะประเมินสรุปว่า ผู้ประกอบการสมควรจะได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GACP จาก กรมฯ หรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่อาจกำหนดเงื่อนไขหรือข้อเสนอแนะให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตาม มีทั้งเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติให้ลุล่วงก่อนที่การรับรองมาตรฐานจะมีผล เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น ปรับปรุงแปลงปลูก/แปรรูป ให้เสร็จก่อนฤดูกาลผลิตหน้า ซึ่งทาง กรมฯ จะคอยติดตามผล นอกเหนือจากนั้นยังมีข้อเสนอแนะจาก กรมฯ ที่ไม่ส่งผลต่อการขอรับรองมาตรฐาน
หลังจากนั้น ผู้สมัครจะได้ "จดหมายแจ้งผลการรับรอง" ซึ่งต้องทำการเซ็นรับทราบและส่งกลับให้ กรมฯ และเฉพาะผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ครบระยะปรับเปลี่ยนแล้วจะได้รับ "ใบรับรองมาตรฐาน GACP" และสามารถใช้ตรารับรองต่างๆ บนผลิตภัณฑ์ ตามระบบมาตรฐานที่ได้ผ่านการรับรอง ยกเว้นในกรณีที่พื้นที่ขอรับรองเป็น GACP แต่ยังไม่ได้มีผลิตผลสำหรับจำหน่าย ซึ่งปกติใบรับรองจะมีอายุ 1-3 ปี นับจากวันที่ได้รับการรับรอง แต่หากมีการละเมิดข้อกำหนดระหว่างทาง กรมฯ ก็มีสิทธิ์ระงับใบรับรองทันที
ในกรณีที่ผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงการผลิต/แปรรูป เช่น เปลี่ยนสายพันธุ์ ขยายพื้นที่ปลูก, ย้ายสถานที่ ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งให้ กรมฯ ทราบและทำการสมัครขอรับรองมาตรฐานเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ประกอบการต้องการส่งสินค้าที่ได้รับการรับรอง GACP จาก กรมฯ ไปจำหน่ายยังต่างประเทศและต้องการใบรับรอง เพื่อส่งให้กับผู้นำเข้าในต่างประเทศ สามารขอใบรับรองดังกล่าวหรือขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก